การรับราชการตำรวจ ของ ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา

เริ่มต้นรับราชการที่บ้านเกิดในตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองสุราษฎร์ธานี ก่อนย้ายเป็นผู้ช่วยนายเวร พล.ต.อ.ชุมพล อรรถศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธร 3 คุมพื้นที่ภาคเหนือ ระหว่างดำรงตำแหน่งได้มีโอกาศเรียนรู้งานกิจการพิเศษในแผนกรกฏ จึงทำให้มีความเชี่ยวชาญและความรู้เรื่องยุทธวิธีการคุมชุมนุมประท้วงและแนวทางการปฏิบัติกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ ตั้งแต่ไฟไหม้ น้ำท่วม ไปจนถึงการจี้ตัวประกัน หรือเหตุวินาศกรรม

จากนั้นคืนถิ่นเกิดเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2551 ร่วมไขคดีสังหารโหดคนงานชาวพม่า 4 ศพ ในพื้นที่หมู่ 7 ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้เวลาตามรอยอยู่ไม่นานสามารถจับกุมแก๊งคนร้ายเป็นชาวอำเภอไชยาได้ทั้งหมด 6 คน ซึ่งมีพฤติกรรมโหดเหี้ยมโดยการจับคนงานพม่าทั้งชายและหญิงมามัดมือไพล่หลังด้วยสายไฟก่อนที่จะลากขึ้นรถไปยิงทิ้งอย่างเลือดเย็น

ต่อมาเขาก็ได้ดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการหัวหน้าศูนย์สืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 คลายปมคดีสำคัญในพื้นที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะคดีมือปืนยิงนายปรีชา เพชรประเสริฐ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลลำพูน บริเวณบนถนนพูลศิริ ในเขตเทศบาลเมืองนาสาร ตำบลนาสาร  อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2551 จับกุมประสาท หรือสุรชัย หรือไข่  วิชัยดิษฐ์[3]

วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เขาตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หลังใช้อำนาจตามตำแหน่งหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานครออกข้อบังคับบริเวณรอบพระราชฐาน 901 แลนด์[4]เนื่องจาก 901 แลนด์อยู่ในกรุงเทพมหานคร

ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2552 ได้รับคำสั่งจาก พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้น ให้มาร่วมทำงานสังกัดทัพเมืองหลวงครั้งแรกในตำแหน่งผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชนคนที่ 2 ของหน่วยต่อจาก พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์จากรัฐบาลเข้าควบคุมสถานการณ์การชุมนุมที่มีการปิดถนนยาวนานต่อเนื่องหลายเดือน ก่อนจะมีประกาศพระราชบัญญัติความมั่นคง และพระราชบัญญัติฉุกเฉิน มีการตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังสถานการณ์บานปลายและรุนแรงขึ้น